การทำงานของระบบต่างๆในร่างกายร่วมกัน
ร่างกายมนุษย์ประกอบด้วยเซลล์หลายร้อยล้านเซลล์ แต่ละเซลล์ก็จะถูกกำหนดให้เจริญเติบโตและทำหน้าที่เฉพาะ ซึ่งเซลล์ชนิดเดียวกันจะรวมเป็นเนื้อเยื่อ (tissues) เนื้อเยื่อเมื่อมาอยู่และทำงานร่วมกันเรียกว่า อวัยวะ (organ) อวัยวะที่ทำงานร่วมกันเรียกว่า ระบบ (system) และระบบต่างๆก็ทำงานร่วมกันเป็นร่างกาย
ในร่างกายแต่ละอวัยวะมีการทำงานกันอย่างเป็นระบบ เช่น
ระบบย่อยอาหาร
ประกอบด้วยปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก บางอวัยวะก็ไม่ได้มีหน้าที่ย่อยแต่เกี่ยวข้องกับระบบย่อยอาหาร ได้แก่ ตับ ตับอ่อน ช่วยสร้างน้ำย่อย และสำไส้ใหญ่ ช่วยดูดซึมสารอาหารที่ร่างกายยังดูดซึมไม่หมด
ระบบหมุนเวียนเลือด
ได้แก่ หัวใจ หลอดเลือดดำ หลอดเลือดแดง หลอดเลือดฝอย มีหน้าที่ลำเลียงแก๊สและสารอาหารไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย
ระบบทางเดินหายใจ
ประกอบด้วยอวัยวะต่างๆ คือ จมูก ปอด ถุงลมในปอด กล้ามเนื้อ กะบังลม และกระดูกซี่โครง ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนแก๊สที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต
ระบบขับถ่าย
ก็คือการขับของเสียออกนอกร่างกายหลายรูปแบบ อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการขับถ่ายของเสียในรูปแบบของเหลว คือ ผิวหนังที่ขับเหงื่อ และไตที่ขับปัสสาวะ ในรูปของของแข็ง คือ ลำไส้ใหญ่ และในรูปของแก๊ส คือ ปอด
ระบบประสาท ก็เป็นการทำงานร่วมกันของอวัยวะอย่างสมอง ไขสันหลัง และเส้นประสาทต่างๆ ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการทำงานทั้งหมดของร่างกาย
การทำงานร่วมกัน
เมื่อแต่ละระบบทำงานสัมพันธ์กันทำให้เราทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันได้ เช่น ขณะที่เราออกกำลังกาย ร่างกายก็จะต้องการแก๊สออกซิเจนและสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายเพิ่มมากขึ้น เพื่อใช้ในกระบวนการสร้างพลังงาน ร่างกายจึงหายใจถี่และเร็วขึ้นเพื่อนำแก๊สออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายให้เพียงพอกับการนำไปใช้ของร่างกาย และนำแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการสลายพลังงานออกไป หัวใจจะเต้นเร็วเพื่อสูบฉีดเลือดให้ทันต่อความต้องการของร่างกาย เมื่อสลายพลังงานแล้วร่างกายก็จะขับเหงื่อที่เป็นของเสียออกจำนวนมาก หลังจากออกกำลังกายเราก็จะหิวและกระหายน้ำ ทำให้เราต้องดื่มน้ำและกินอาหารเพื่อทดแทนพลังงานที่เสียไป ระบบย่อยอาหารก็จะต้องทำการย่อย ซึ่งการทำงานของระบบต่างๆ ที่ทำงานสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่องนี่เองที่ทำให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้ หากระบบใดระบบหนึ่งผิดปกติหรือทำงานไม่ได้ ก็จะส่งผลต่อระบบอื่นๆเช่นกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น