วันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ระบบสืบพันธุ์

ระบบสืบพันธุ์


            ระบบสืบพันธุ์คือกระบวนการผลิตสิ่งมีชีวิตเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์

ระบบสืบพันธุ์เพศชาย

        1. อัณฑะ (testis) ต่อมสร้างตัวอสุจิ (sperm) หรือเซลล์สืบพันธุ์เพศชาย และฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone) เพื่อควบคุมลักษณะเพศชาย ภายในมีหลอดสร้างตัวอสุจิ (seminiferous Tubules)

        2. หลอดเก็บตัวอสุจิ (epididymis) ทำหน้าที่เก็บตัวอสุจิ

        3. หลอดนำตัวอสุจิ (Vas deferens) ท่อที่ถัดจากหลอดเก็บตัวอสุจิ ทำหน้าที่ลำเลียงตัวอสุจิไปเก็บที่ต่อมสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิ

        4. ต่อมสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิ (seminal Vesicle) มีหน้าที่สร้างอาหารเลี้ยงตัวอสุจิ

        5. ต่อมลูกหมาก (Prostate Gland) ทำหน้าที่หลั่งสารที่เป็นเบสอ่อนเข้าไปในท่อปัสสาวะ เพื่อให้ตัวอสุจิอยู่ได้

        6. ต่อมคาวเปอร์ (Cowper Gland) กระเปาะเล็กๆใต้ต่อมลูกหมาก ช่วยหลั่งสารหล่อลื่น

        7. องคชาติ (penis) เป็นทางผ่านของน้ำปัสสาวะและอสุจิ

            เพศชายสร้างตัวอสุจิเมื่ออายุ 12-13 ปี และสร้างตลอดชีวิต การหลั่งแต่ละครั้งมีตัวอสุจิ 350-500 ล้านตัว หากตัวอสุจิต่ำกว่า 30 ล้านตัวต่อลูกบาศก์เซนติเมตรหรือรูปร่างผิดปกติมากกว่าร้อยละ 25 จะมีบุตรยากหรือเป็นหมัน

ระบบสืบพันธุ์เพศหญิง

        1. รังไข่ (ovary) อยู่บริเวณปีกมดลูก 2 ข้าง ทำหน้าที่ผลิตไข่ (ovum) หรือเซลล์สืบพันธุ์เพศหญิง และสร้างฮอร์โมนอีสโทรเจน (Estrogen) และโพรเจสเทอโรน (Progesterone) เพื่อควบคุมลักษณะเพศหญิง

        2. ท่อนำไข่ (oviduct) [ปีกมดลูก] เป็นทางเชื่อมระหว่างรังไข่กับมดลูก และเป็นบริเวณที่อสุจิเข้าปฏิสนธิกับไข่

        3. มดลูก (uterus) อยู่บริเวณอุ้งกระดูกเชิงกราน เป็นที่ฝังตัวของไข่ที่ได้รับการผสมแล้ว

        4. ช่องคลอด (vagina) เป็นทางผ่านของตัวอสุจิเข้าสู่มดลูก เป็นทางออกของทารกและประจำเดือน

ประจำเดือน

            เมื่อไข่ตก ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนเพื่อเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูกสำหรับการฝังตัวของไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิ แต่เมื่อไม่มีการปฏิสนธิ เยื่อบุโพรงมดลูกและหลอดเลือดก็จะสลาย กลายเป็นประจำเดือน เพศหญิงจะมีประจำเดือนตั้งแต่อายุ 12 ปี รอบเดือนประมาณ 28 วัน เมื่ออายุ 50 ปีก็หมดประจำเดือน

การปฏิสนธิ

            เมื่อตัวอสุจิเข้าปฏิสนธิกับไข่ ไข่ที่ผสมแล้วจะแบ่งตัวได้ไซโกต (zygote) ไซโกตจะฝังตัวที่ผนังมดลูกด้านใน แล้วเริ่มแบ่งเซลล์จนกลายเป็นตัวอ่อน (embryo) จนกระทั่งอายุ 38 สัปดาห์ ก็จะคลอดออกมา

ความผิดปกติของการตั้งครรภ์

            ปกติแล้วคนเราจะตั้งครรภ์ครั้งละคนเท่านั้น แต่บางกรณีอาจมีโอกาสครั้งละมากกว่า 1 คน เรียกว่า แฝด

            1. แฝดร่วมไข่ เกิดจากไข่ 1 เซลล์ ผสมกับตัวอสุจิ 1 เซลล์ แต่ขณะที่เป็นตัวอ่อนในระยะแรกๆ ได้แบ่งเป็น 2 ส่วน แล้วเจริญเติบโตเป็นทารกเพศเดียวกันและคลอดเวลาใกล้เคียงกัน
            2. แฝดต่างไข่ เกิดจากไข่มากกว่า 1 เซลล์ ปฏิสนธิกับตัวอสุจิมากกว่า 1 เซลล์ ได้ตัวอ่อนมากกว่า 1 ซึ่งเป็นเพศเดียวกันหรือต่างเพศก็ได้

        นอกจากนี้ยังมีความผิดปกติอื่น เช่น แท้งคือทารกคลอดก่อน 28 สัปดาห์ ท้องนอกมดลูกคือตัวอ่อนฝังตัวบริเวณที่ไม่ใช่มดลูก และการคลอดก่อนกำหนดคือการที่ทารกคลอดเมื่ออายุ 28-37 สัปดาห์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น