วันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ระบบทางเดินหายใจ

ระบบทางเดินหายใจ (respiratory system)

            การหายใจ (respiration) เป็นการนำอากาศเข้าและออกจากร่างกาย ทำให้แก๊สออกซิเจนทำปฏิกิริยากับสารอาหาร ได้พลังงาน น้ำ และแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์

อวัยวะในระบบทางเดินหายใจ
1.จมูก (nose) มีหน้าที่รับกลิ่น และเป็นทางผ่านเข้าออกของอากาศ
2. ปาก (mouth) ช่องทางที่อากาศผ่านเข้าสู่ปอดได้กรณีเหนื่อยหรือทางจมูกตีบตัน
3. โพรงจมูก (nosal cavity) อยู่ถัดจากรูจมูก ทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิและความชื้นของอากาศ และดักฝุ่นละอองไม่ให้เข้าจมุก
4. คอหอย (phaynx) ส่วนหนึ่งของคอและช่องคอ
5. กล่องเสียง (larynx) อวัยวะที่อยู่ด้านหน้าของลำคอ ทำให้เกิดเสียง
6. หลอดลม (Trachea) หลอดยาวที่มีกระดูกอ่อนรูปเกือกม้าเรียงติดกัน ทำให้หลอดลมไม่แฟบ อากาศจึงผ่านเข้าออกได้
7. ปอด (lung) อวัยวะที่ใช้แลกเปลี่ยนแก๊ส มี 2 ข้างในทรวงอก ประกอบด้วยขั้วปอด (Bronchus) ที่แตกแขนงออก เรียกว่า แขนงขั้วปอด (Bronchiole) ที่ปลายของแขนงขั้วปอดมีถุงลมเล็กๆใช้แลกเปลี่ยนแก๊ส เรียกว่า ถุงลมปอด (alveolu)

กลไกของระบบทางเดินหายใจ
            การหายใจเข้า กะบังลมเคลื่อนต่ำลง กระดูกซี่โครงยกตัว ทำให้ปริมาตรของช่องอกเพิ่มขึ้น ความดันอากาศในช่องอกและปอดลดต่ำลง อากาศเข้าสู่ปอด
            การหายใจออก กะบังลมยกขึ้น กระดูกซี่โครงเลื่อนต่ำลง ทำให้ปริมาตรของช่องอกน้อยลง ช่องอกและปอดมีความดันอากาศสูงขึ้น อากาศออกจากปอด
            คนปกติมีอัตราการหายใจ 14-18 ครั้งต่อนาที เรากลั้นหายใจได้ไม่เกิน 1 นาที ขึ้นอยู่กับปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด เช่น ขณะออกกำลังกาย แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดจะสูง ทำให้หายใจเร็ว เพื่อให้รับแก๊สออกซิเจนได้มากขึ้น แต่เมื่อหลับ ร่างกายทำงานน้อยลง ปริมาณแก๊สต่ำ การหายใจก็จะช้าลง

การแลกเปลี่ยนแก๊ส
            แก๊สออกซิเจนจากถุงลมปอดจะแพร่เข้าสู่หลอดเลือดฝอยรอบๆถุงลมปอด และรวมตัวกับฮีโมโกลบินที่เม็ดเลือดแดงกลายเป็นออกซีฮีโมโกลบิน ทำให้เลือดมีสีแดง จากนั้นหัวใจจะสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย แก๊สออกซิเจนจะทำปฏิกิริยากับสารอาหาร ได้พลังงาน น้ำ และแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ หลังจากนั้นแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จะแพร่เข้าสู่หลอดเลือดฝอย ไปยังปอด และหายใจออก

อาการที่เกี่ยวข้องกับการหายใจ
1. การจาม อาการที่หายใจเข้าลึกและหายใจออกทันที เกิดจากร่างกายพยายามขับสิ่งแปลกปลอมออกนอกร่างกาย
2. การหาว อาการที่หายใจเข้ายาวและลึก เกิดจากร่างกายมีปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์สะสมอยู่ในเลือดมากเกินไป จึงต้องขับออก เพื่อรับแก๊สออกซิเจนเข้าปอดแทน
3. การสะอึก อาการที่เกิดจากกะบังลมหดตัวเป็นจังหวะ ขณะหดตัวอากาศจะถูกดันผ่านลงสู่ปอดทันที ทำให้เส้นเสียงสั่นเกิดเสียง
4. การไอ อาการที่หายใจเข้ายาวและออกอย่างรุนแรง เพื่อไม่ให้สิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าไปในกล่องเสียงและหลอดลม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น