วันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2560

การทำงานของระบบต่างๆในร่างกายร่วมกัน

การทำงานของระบบต่างๆในร่างกายร่วมกัน


ร่างกายมนุษย์ประกอบด้วยเซลล์หลายร้อยล้านเซลล์ แต่ละเซลล์ก็จะถูกกำหนดให้เจริญเติบโตและทำหน้าที่เฉพาะ ซึ่งเซลล์ชนิดเดียวกันจะรวมเป็นเนื้อเยื่อ (tissues) เนื้อเยื่อเมื่อมาอยู่และทำงานร่วมกันเรียกว่า อวัยวะ (organ) อวัยวะที่ทำงานร่วมกันเรียกว่า ระบบ (system) และระบบต่างๆก็ทำงานร่วมกันเป็นร่างกาย

ในร่างกายแต่ละอวัยวะมีการทำงานกันอย่างเป็นระบบ เช่น

ระบบย่อยอาหาร 
ประกอบด้วยปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก บางอวัยวะก็ไม่ได้มีหน้าที่ย่อยแต่เกี่ยวข้องกับระบบย่อยอาหาร ได้แก่ ตับ ตับอ่อน ช่วยสร้างน้ำย่อย และสำไส้ใหญ่ ช่วยดูดซึมสารอาหารที่ร่างกายยังดูดซึมไม่หมด

ระบบหมุนเวียนเลือด
ได้แก่ หัวใจ หลอดเลือดดำ หลอดเลือดแดง หลอดเลือดฝอย มีหน้าที่ลำเลียงแก๊สและสารอาหารไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย

ระบบทางเดินหายใจ 
ประกอบด้วยอวัยวะต่างๆ คือ จมูก ปอด ถุงลมในปอด กล้ามเนื้อ กะบังลม และกระดูกซี่โครง ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนแก๊สที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต

ระบบขับถ่าย 
ก็คือการขับของเสียออกนอกร่างกายหลายรูปแบบ อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการขับถ่ายของเสียในรูปแบบของเหลว คือ ผิวหนังที่ขับเหงื่อ และไตที่ขับปัสสาวะ ในรูปของของแข็ง คือ ลำไส้ใหญ่ และในรูปของแก๊ส คือ ปอด

ระบบประสาท ก็เป็นการทำงานร่วมกันของอวัยวะอย่างสมอง ไขสันหลัง และเส้นประสาทต่างๆ ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการทำงานทั้งหมดของร่างกาย

การทำงานร่วมกัน 
เมื่อแต่ละระบบทำงานสัมพันธ์กันทำให้เราทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันได้ เช่น ขณะที่เราออกกำลังกาย ร่างกายก็จะต้องการแก๊สออกซิเจนและสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายเพิ่มมากขึ้น เพื่อใช้ในกระบวนการสร้างพลังงาน ร่างกายจึงหายใจถี่และเร็วขึ้นเพื่อนำแก๊สออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายให้เพียงพอกับการนำไปใช้ของร่างกาย และนำแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการสลายพลังงานออกไป หัวใจจะเต้นเร็วเพื่อสูบฉีดเลือดให้ทันต่อความต้องการของร่างกาย เมื่อสลายพลังงานแล้วร่างกายก็จะขับเหงื่อที่เป็นของเสียออกจำนวนมาก หลังจากออกกำลังกายเราก็จะหิวและกระหายน้ำ ทำให้เราต้องดื่มน้ำและกินอาหารเพื่อทดแทนพลังงานที่เสียไป ระบบย่อยอาหารก็จะต้องทำการย่อย ซึ่งการทำงานของระบบต่างๆ ที่ทำงานสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่องนี่เองที่ทำให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้ หากระบบใดระบบหนึ่งผิดปกติหรือทำงานไม่ได้ ก็จะส่งผลต่อระบบอื่นๆเช่นกัน

ระบบประสาท

ระบบประสาท (nervous system)


ระบบประสาท คือระบบการตอบสนองต่อสิ่งเร้ารอบตัว ระบบประสาทของมนุษย์แบ่งตามหน้าที่ออกเป็นระบบประสาทส่วนกลางและระบบประสาทรอบนอก

ระบบประสาทส่วนกลาง เป็นศูนย์กลางควบคุมการทำงานของร่างกาย ประกอบด้วยสมอง ไขสันหลัง และเซลล์ประสาท

สมอง (brain) เป็นศูนย์กลางของระบบประสาททั้งหมด

1. สมองส่วนหน้า

        1.1 ซีรีบรัม (Cerebrum) มีขนาดใหญ่สุดรอยหยักมาก ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ ควบคุมการเคลื่อนไหว ความรู้สึก และประสาทสัมผัส

        1.2 ทาลามัส (Thalamus) เป็นตัวกลางถ่ายทอดกระแสประสาทในสมอง

        1.3 ไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ทำหน้าที่ควบคุมสมดุลร่างกายและการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย การหายใจ การหลับ การเต้นของหัวใจ เป็นต้น

2.สมองส่วนกลาง มีเซลล์เชื่อมระหว่างสมองส่วนหน้ากับส่วนท้ายและส่วนหน้ากับตา ทำให้ลูกตากลอกไปมา และม่านตาหดขยายได้

3.สมองส่วนท้าย

3.1 ซีรีเบลลัม (Cerebellum) อยู่ใต้ซีรีบรัม ควบคุมระบบกล้ามเนื้อและการทรงตัว

3.2 พอนส์ (Pons) อยู่ด้านหน้าของซีรีเบลลัม มีใยประสาทเชื่อมระหว่างซีรีบรัมและซีรีเบลลัม ช่วยให้ร่างกายเคลื่อนไหวพร้อมกับทรงตัวได้

3.3 เมดัลลาออบลองกาตา (medulla oblongata) อยู่ติดกับพอนส์ทางด้านบน เป็นศูนย์กลางการควบคุมการทำงานเหนืออำนาจจิตใจ เช่น การหายใจ

สมองส่วนกลาง พอนส์ และเมดัลลาออบลองกาตา รวมกันเรียกว่า "ก้านสมอง (brain stem)"

ไขสันหลัง (spinal cord) ทำหน้าที่เชื่อมกระแสประสาทจากหน่วยรับความรู้สึกทั่วร่างกายกับสมอง

เซลล์ประสาท (neuron) เป็นกลุ่มของใยประสาทหลายอันที่มารวมกัน ใยประสาทรับความรู้สีก เรียกว่า เดนไดรท์ (dendrite) ส่วนใยประสาทที่ส่งความรู้สึกเรียกว่า แอกซอน (axon) เซลล์ประสาทมี 3 ส่วน ได้แก่

1.เซลล์ประสาทรับความรู้สึก รับกระแสประสาทจากอวัยวะรับสัมผัส เข้าสู่สมองและไขสันหลัง
2.เซลล์ประสาทนำคำสั่ง เชื่อมเซลล์ประสาทรับความรู้สึกกับสมอง ไขสันหลัง และเซลล์ประสาทสั่งการ
3.เซลล์ประสาทสั่งการ รับคำสั่งจากสมองหรือไขสันหลังให้ควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ

ระบบประสาทรอบนอก 

        ประกอบด้วยหน่วยรับความรู้สึกทั้งหมด เข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลาง และนำกระแสประสาทสั่งการจากระบบประสาทส่วนกลางไปยังหน่วยรับความรู้สึกและอวัยวะรับสัมผัส รวมทั้งเซลล์ประสาท ซึ่งจำแนกตามลักษณะการทำงานได้ 2 แบบ คือ

        1.ระบบประสาทภายใต้อำนาจจิตใจ ควบคุมการทำงานของอวัยวะและกล้ามเนื้อที่บังคับได้
        2.ระบบประสาทนอกอำนาจจิตใจ เป็นระบบประสาทที่ไม่ต้องอาศัยคำสั่งจากสมอง เรียกว่า ปฏิกิริยารีเฟลกซ์ ซึ่งตอบนองต่อสิ่งเร้าทันที เช่น เมื่อนิ้วถูกความร้อน กระแสประสาทจะส่งไปไขสันหลัง ไม่ผ่านสมอง ไขสันหลังจะสั่งให้กล้ามเนื้อที่แขนหดตัวและดึงมือออกทันที

การตอบสนองต่อสิ่งเร้า
            การตอบสนองต่อสิ่งเร้าทั้งภายใน เช่น ฮอร์โมน เอนไซม์ ความหิว ความต้องการทางเพศ เป็นต้น และสิ่งเร้าภายนอกร่างกาย เช่น แสง เสียง อุณหภูมิ อาหาร น้ำ การสัมผัส สารเคมี เป็นต้น

ระบบสืบพันธุ์

ระบบสืบพันธุ์


            ระบบสืบพันธุ์คือกระบวนการผลิตสิ่งมีชีวิตเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์

ระบบสืบพันธุ์เพศชาย

        1. อัณฑะ (testis) ต่อมสร้างตัวอสุจิ (sperm) หรือเซลล์สืบพันธุ์เพศชาย และฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone) เพื่อควบคุมลักษณะเพศชาย ภายในมีหลอดสร้างตัวอสุจิ (seminiferous Tubules)

        2. หลอดเก็บตัวอสุจิ (epididymis) ทำหน้าที่เก็บตัวอสุจิ

        3. หลอดนำตัวอสุจิ (Vas deferens) ท่อที่ถัดจากหลอดเก็บตัวอสุจิ ทำหน้าที่ลำเลียงตัวอสุจิไปเก็บที่ต่อมสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิ

        4. ต่อมสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิ (seminal Vesicle) มีหน้าที่สร้างอาหารเลี้ยงตัวอสุจิ

        5. ต่อมลูกหมาก (Prostate Gland) ทำหน้าที่หลั่งสารที่เป็นเบสอ่อนเข้าไปในท่อปัสสาวะ เพื่อให้ตัวอสุจิอยู่ได้

        6. ต่อมคาวเปอร์ (Cowper Gland) กระเปาะเล็กๆใต้ต่อมลูกหมาก ช่วยหลั่งสารหล่อลื่น

        7. องคชาติ (penis) เป็นทางผ่านของน้ำปัสสาวะและอสุจิ

            เพศชายสร้างตัวอสุจิเมื่ออายุ 12-13 ปี และสร้างตลอดชีวิต การหลั่งแต่ละครั้งมีตัวอสุจิ 350-500 ล้านตัว หากตัวอสุจิต่ำกว่า 30 ล้านตัวต่อลูกบาศก์เซนติเมตรหรือรูปร่างผิดปกติมากกว่าร้อยละ 25 จะมีบุตรยากหรือเป็นหมัน

ระบบสืบพันธุ์เพศหญิง

        1. รังไข่ (ovary) อยู่บริเวณปีกมดลูก 2 ข้าง ทำหน้าที่ผลิตไข่ (ovum) หรือเซลล์สืบพันธุ์เพศหญิง และสร้างฮอร์โมนอีสโทรเจน (Estrogen) และโพรเจสเทอโรน (Progesterone) เพื่อควบคุมลักษณะเพศหญิง

        2. ท่อนำไข่ (oviduct) [ปีกมดลูก] เป็นทางเชื่อมระหว่างรังไข่กับมดลูก และเป็นบริเวณที่อสุจิเข้าปฏิสนธิกับไข่

        3. มดลูก (uterus) อยู่บริเวณอุ้งกระดูกเชิงกราน เป็นที่ฝังตัวของไข่ที่ได้รับการผสมแล้ว

        4. ช่องคลอด (vagina) เป็นทางผ่านของตัวอสุจิเข้าสู่มดลูก เป็นทางออกของทารกและประจำเดือน

ประจำเดือน

            เมื่อไข่ตก ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนเพื่อเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูกสำหรับการฝังตัวของไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิ แต่เมื่อไม่มีการปฏิสนธิ เยื่อบุโพรงมดลูกและหลอดเลือดก็จะสลาย กลายเป็นประจำเดือน เพศหญิงจะมีประจำเดือนตั้งแต่อายุ 12 ปี รอบเดือนประมาณ 28 วัน เมื่ออายุ 50 ปีก็หมดประจำเดือน

การปฏิสนธิ

            เมื่อตัวอสุจิเข้าปฏิสนธิกับไข่ ไข่ที่ผสมแล้วจะแบ่งตัวได้ไซโกต (zygote) ไซโกตจะฝังตัวที่ผนังมดลูกด้านใน แล้วเริ่มแบ่งเซลล์จนกลายเป็นตัวอ่อน (embryo) จนกระทั่งอายุ 38 สัปดาห์ ก็จะคลอดออกมา

ความผิดปกติของการตั้งครรภ์

            ปกติแล้วคนเราจะตั้งครรภ์ครั้งละคนเท่านั้น แต่บางกรณีอาจมีโอกาสครั้งละมากกว่า 1 คน เรียกว่า แฝด

            1. แฝดร่วมไข่ เกิดจากไข่ 1 เซลล์ ผสมกับตัวอสุจิ 1 เซลล์ แต่ขณะที่เป็นตัวอ่อนในระยะแรกๆ ได้แบ่งเป็น 2 ส่วน แล้วเจริญเติบโตเป็นทารกเพศเดียวกันและคลอดเวลาใกล้เคียงกัน
            2. แฝดต่างไข่ เกิดจากไข่มากกว่า 1 เซลล์ ปฏิสนธิกับตัวอสุจิมากกว่า 1 เซลล์ ได้ตัวอ่อนมากกว่า 1 ซึ่งเป็นเพศเดียวกันหรือต่างเพศก็ได้

        นอกจากนี้ยังมีความผิดปกติอื่น เช่น แท้งคือทารกคลอดก่อน 28 สัปดาห์ ท้องนอกมดลูกคือตัวอ่อนฝังตัวบริเวณที่ไม่ใช่มดลูก และการคลอดก่อนกำหนดคือการที่ทารกคลอดเมื่ออายุ 28-37 สัปดาห์

ระบบขับถ่าย

ระบบขับถ่าย (excretory system)

            ระบบขับถ่ายเป็นระบบการขับของเสียออกจากร่างกาย ได้แก่ ลมหายใจ เหงื่อ ปัสสาวะ และอุจจาระ

การกำจัดของเสียทางปอด

            ปอดทำหน้าที่แลกเปลี่ยนแก๊ส โดยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการใช้พลังงานของร่างกายจะออกจากเซลล์แพร่เข้าไปในหลอดเลือด ลำเลียงไปยังปอดและแพร่เข้าสู่ถุงลมปอด ผ่านหลอดลมแล้วออกทางจมูก

การกำจัดของเสียออกทางไต

            ไตเป็นอวัยวะที่มีลักษณะคล้ายถั่ว มี 2 ข้าง ติดกับด้านหลังของช่องท้อง ไตแต่ละข้างประกอบด้วยหน่วยไตนับล้านหน่วย ตรงกลางของไตเว้าเป็นกรวยไต มีท่อไตต่อไปยังกระเพาะปัสสาวะ

            กระบวนการกำจัดของเสีย เริ่มจากหลอดเลือดดำจะส่งเลือดเข้าหน่วยไต หน่วยไตจะกรองสารที่อยู่ในเลือด ซึ่งสารที่ยังมีประโยชน์จะถูกหน่วยไตดูดซึมกลับคืน ส่วนของเสียจะถูกส่งไปตามท่อไตลงสู่กระเพาะปัสสาวะที่มีความจุ 500 ลูกบาศก์เซนติเมตร แต่เมื่อมีน้ำปัสสาวะ 250 ลูกบาศก์เซนติเมตร เราก็จะปวดปัสสาวะ คนเราขับปัสสาวะออกมาประมาณ 1 – 1.5 ลิตรต่อวัน แต่หากกลั้นปัสสาวะไว้นานๆ ก็อาจทำให้เป็นโรคนิ่วในไตหรือกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

การกำจัดของเสียออกทางผิวหนัง

            ผิวหนังมีต่อมเหงื่อที่เป็นท่อขดไปมาและกลุ่มหลอดเลือดฝอยรอบๆ ที่ทำหน้าที่ลำเลียงของเสียมายังต่อมเหงื่อ เมื่อของเสียมาถึงต่อมเหงื่อก็จะแพร่ออกจากหลอดเลือดฝอยเข้าสู่ท่อในต่อมเหงื่อ จากนั้นของเสียก็จะถูกขับออก ซึ่งก็คือเหงื่อ เหงื่อจากต่อมเหงื่อประกอบด้วยน้ำร้อยละ 99 ส่วนอีกร้อยละ 1 เป็นสารอื่นๆ ได้แก่ โซเดียมคลอไรด์ ยูเรีย แอมโมเนีย กรดอะมิโน น้ำตาล และกรดแลกติก
นอกจากขับของเสียแล้ว เหงื่อที่ระเหยยังช่วยระบายความร้อนออกไปด้วย

การกำจัดของเสียออกทางลำไส้ใหญ่

            เมื่อลำไส้เล็กย่อยและดูดซึมสารอาหารแล้ว จะส่งกากอาหารไปยังลำไส้ใหญ่ ลำไส้ใหญ่ครึ่งแรกจะดูดซึมสารอาหารที่ยังเหลืออยู่ ส่วนครึ่งหลังจะเป็นที่พักกากอาหารที่เป็นกึ่งของแข็ง จากนั้นลำไส้ใหญ่จะบีบตัวและขับเมือกออกมาหล่อลื่น เพื่อให้กากอาหารเคลื่อนที่ไปรวมกันที่ลำไส้ตรง และขับถ่ายเป็นอุจจาระออกทางทวารหนัก แต่ถ้าอุจจาระตกค้างอยู่ในลำไส้ใหญ่หลายวัน ลำไส้ใหญ่จะดูดน้ำกลับ ทำให้อุจจาระแข็ง ขับถ่ายลำบาก เกิดอาการท้องผูก และผู้ที่ท้องผูกนานๆ อาจทำให้เป็นโรคริดสีดวงทวาร วิธีป้องกันท้องผูกก็คือการดื่มน้ำ การรับประทานผักผลไม้ที่มีกากใยทุกวัน เพื่อช่วยให้ลำไส้ใหญ่ขับถ่ายสะดวก

ระบบทางเดินหายใจ

ระบบทางเดินหายใจ (respiratory system)

            การหายใจ (respiration) เป็นการนำอากาศเข้าและออกจากร่างกาย ทำให้แก๊สออกซิเจนทำปฏิกิริยากับสารอาหาร ได้พลังงาน น้ำ และแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์

อวัยวะในระบบทางเดินหายใจ
1.จมูก (nose) มีหน้าที่รับกลิ่น และเป็นทางผ่านเข้าออกของอากาศ
2. ปาก (mouth) ช่องทางที่อากาศผ่านเข้าสู่ปอดได้กรณีเหนื่อยหรือทางจมูกตีบตัน
3. โพรงจมูก (nosal cavity) อยู่ถัดจากรูจมูก ทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิและความชื้นของอากาศ และดักฝุ่นละอองไม่ให้เข้าจมุก
4. คอหอย (phaynx) ส่วนหนึ่งของคอและช่องคอ
5. กล่องเสียง (larynx) อวัยวะที่อยู่ด้านหน้าของลำคอ ทำให้เกิดเสียง
6. หลอดลม (Trachea) หลอดยาวที่มีกระดูกอ่อนรูปเกือกม้าเรียงติดกัน ทำให้หลอดลมไม่แฟบ อากาศจึงผ่านเข้าออกได้
7. ปอด (lung) อวัยวะที่ใช้แลกเปลี่ยนแก๊ส มี 2 ข้างในทรวงอก ประกอบด้วยขั้วปอด (Bronchus) ที่แตกแขนงออก เรียกว่า แขนงขั้วปอด (Bronchiole) ที่ปลายของแขนงขั้วปอดมีถุงลมเล็กๆใช้แลกเปลี่ยนแก๊ส เรียกว่า ถุงลมปอด (alveolu)

กลไกของระบบทางเดินหายใจ
            การหายใจเข้า กะบังลมเคลื่อนต่ำลง กระดูกซี่โครงยกตัว ทำให้ปริมาตรของช่องอกเพิ่มขึ้น ความดันอากาศในช่องอกและปอดลดต่ำลง อากาศเข้าสู่ปอด
            การหายใจออก กะบังลมยกขึ้น กระดูกซี่โครงเลื่อนต่ำลง ทำให้ปริมาตรของช่องอกน้อยลง ช่องอกและปอดมีความดันอากาศสูงขึ้น อากาศออกจากปอด
            คนปกติมีอัตราการหายใจ 14-18 ครั้งต่อนาที เรากลั้นหายใจได้ไม่เกิน 1 นาที ขึ้นอยู่กับปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด เช่น ขณะออกกำลังกาย แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดจะสูง ทำให้หายใจเร็ว เพื่อให้รับแก๊สออกซิเจนได้มากขึ้น แต่เมื่อหลับ ร่างกายทำงานน้อยลง ปริมาณแก๊สต่ำ การหายใจก็จะช้าลง

การแลกเปลี่ยนแก๊ส
            แก๊สออกซิเจนจากถุงลมปอดจะแพร่เข้าสู่หลอดเลือดฝอยรอบๆถุงลมปอด และรวมตัวกับฮีโมโกลบินที่เม็ดเลือดแดงกลายเป็นออกซีฮีโมโกลบิน ทำให้เลือดมีสีแดง จากนั้นหัวใจจะสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย แก๊สออกซิเจนจะทำปฏิกิริยากับสารอาหาร ได้พลังงาน น้ำ และแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ หลังจากนั้นแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จะแพร่เข้าสู่หลอดเลือดฝอย ไปยังปอด และหายใจออก

อาการที่เกี่ยวข้องกับการหายใจ
1. การจาม อาการที่หายใจเข้าลึกและหายใจออกทันที เกิดจากร่างกายพยายามขับสิ่งแปลกปลอมออกนอกร่างกาย
2. การหาว อาการที่หายใจเข้ายาวและลึก เกิดจากร่างกายมีปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์สะสมอยู่ในเลือดมากเกินไป จึงต้องขับออก เพื่อรับแก๊สออกซิเจนเข้าปอดแทน
3. การสะอึก อาการที่เกิดจากกะบังลมหดตัวเป็นจังหวะ ขณะหดตัวอากาศจะถูกดันผ่านลงสู่ปอดทันที ทำให้เส้นเสียงสั่นเกิดเสียง
4. การไอ อาการที่หายใจเข้ายาวและออกอย่างรุนแรง เพื่อไม่ให้สิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าไปในกล่องเสียงและหลอดลม

ระบบหมุนเวียนเลือด

ระบบไหลเวียนโลหิตของมนุษย์ (Circulatory System)

ในระบบหมุนเวียนโลหิตของมนุษย์เป็นระบบปิด ได้แก่

              1. เลือด (Blood) ประกอบด้วยน้ำเลือดหรือพลาสมา เซลล์เม็ดเลือด และเกล็ดเลือด
           1.1 น้ำเลือดหรือพลาสมา (plasma) เป็นน้ำร้อยละ 91 ทำหน้าที่ลำเลียงสารอาหารเข้าสู่ร่างกายและส่งของเสียไปกำจัด
           1.2 เซลล์เม็ดเลือดแดง (red blood cell) สร้างจากไขกระดูก ในขณะที่เจริญไม่เต็มที่มีนิวเคลียส แต่เมื่อเจริญเต็มที่นิวเคลียสจะสลายไป ซึ่งเซลล์บุ๋มตรงกลางคล้ายโดนัท ภายในมีสารฮีโมโกลบินที่จับกับแก๊สออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ เซลล์มีอายุ 110-120 วัน โดยถูกนำไปทำลายที่ตับและม้าม
           1.3 เซลล์เม็ดเลือดขาว (white blood cell) สร้างที่ไขกระดูกและม้าม มีขนาดใหญ่กว่าเซลล์เม็ดเลือดแดง ค่อนข้างกลมแบนและมีนิวเคลียสอยู่ตลอดชีวิตของเซลล์ ทำหน้าที่สร้างแอนติบอดี (antibody) เพื่อทำลายเชื้อโรคในร่างกาย เซลล์มีอายุ 7-14 วัน โดยถูกส่งไปทำลายที่ตับและม้าม
           1.4 เกล็ดเลือด (platelet) เป็นชิ้นส่วนของเซลล์ แต่ไม่ใช่เซลล์ ลักษณะเป็นแผ่นรีแบน ช่วยให้เลือดแข็งตัว เมื่อเกิดแผล
2. หลอดเลือด (Blood Vessel) เป็นท่อส่งเลือด การบีบตัวของผนังหลอดเลือดทำให้เกิดแรงดัน เลือดไหลตามหลอดเลือด ได้แก่ หลอดเลือดแดง (artery) หลอดเลือดดำ (vein) และหลอดเลือดฝอย (capillary)
3. หัวใจ (Heart) เป็นอวัยวะที่มีกล้ามเนื้อแข็งแรง เพื่อสูบฉีดเลือดตลอดเวลา ระหว่างหัวใจห้องบนและล่างมีลิ้นหัวใจกั้นอยู่ ทำหน้าที่ไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับ

การหมุนเวียนของเลือดผ่านหัวใจ

            หัวใจรับเลือดที่มีแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จากหลอดเลือดดำทั่วร่างกายเข้าสู่หัวใจห้องบนขวาลงหัวใจห้องล่างขวา แล้วสูบฉีดเลือดไปยังปอดเพื่อแลกเปลี่ยนแก๊ส จากนั้นแก๊สออกซิเจนจากปอดจะแพร่เข้าสู่หลอดเลือดแดง ไหลกลับสู่หัวใจห้องบนซ้าย ลงสู่หัวใจห้องล่างซ้าย แล้วสูบฉีดเลือดไปยังทั่วร่างกาย แล้วกลับไปยังหัวใจ

ความดันเลือด

            ความดันเลือด เกิดจากการบีบตัวและคลายตัวของหัวใจ ทำให้เลือดไหลไปตามหลอดเลือด ค่าความดันมีตัวเลข 2 ค่า มีหน่วยเป็นมิลลิเมตรของปรอท (mmHg) เช่น ค่าความดันของคนปกติเป็น 120/80 mmHg เลขตัวแรกคือความดันเลือดสูงสุด ขณะหัวใจบีบตัว เรียกว่า ความดันซิสโทลิก (systolic pressure) ส่วนเลขตัวหลังคือความดันเลือดต่ำสุดขณะหัวใจคลายตัวเรียกว่า ความดันไดแอสโทลิก (diastolic pressure)

            ปัจจัยที่มีผลต่อความดันเลือด เช่น ผู้สูงอายุมีความดันเลือดสูงกว่าเด็ก เพศชายมีความดันเลือดสูงกว่าเพศหญิง คนที่สูงใหญ่มักมีความดันเลือดสูงกว่าคนที่มีร่างกายขนาดเล็ก เป็นต้น

ชีพจร

            ชีพจรคือจังหวะการหดและคลายตัวของผนังหลอดเลือด หรือจังหวะการเต้นของหัวใจ ซึ่งคนปกติอยู่ 60-100 ครั้งต่อนาที และจังหวะคงที่

ระบบร่างกายมนุษย์

ระบบย่อยอาหาร
ระบบย่อยอาหาร คือ ระบบที่เกี่ยวข้องกับการย่อยอาหาร ได้แก่ ทางเดินอาหารตั้งแต่ปากตลอดไปจนถึงทวารหนัก
การย่อยอาหาร คือ กระบวนการสลายอาหารที่มีโมเลกุลใหญ่ให้มีโมเลกุลเล็กลง  มี 2 วิธี คือ
  1. การย่อยเชิงกล (Mechanical digestion) คือ อาหารที่ถูกฟันบดเคี้ยวทำให้มีขนาดเล็กลงแต่ยังไม่สามารถแปรสภาพอาหารที่มีโมเลกุลใหญ่ให้มีโมเลกุลเล็กลงจนสามารถดูดซึมได้
  2. การย่อยทางเคมี (Chemical digestion) คือ อาหารเหล่านี้จะถูกย่อยให้เป็นโมเลกุลให้เล็กลงไปอีกโดยเอนไซม์ในน้ำลาย กระเพาะ และลำไส้เล็ก (รวมทั้งตับ) จะมีน้ำย่อยในทางเดินอาหาร 
ระบบย่อยอาหาร ประกอบด้วยอวัยวะต่าง ๆ ดังนี้

1. ปาก (Month) เริ่มจากภายในปากมีฟัน (Teeth) ที่ทำหน้าที่บดเคี้ยวอาหารให้ละเอียด ซึ่งเป็นการย่อยเชิงกล ในขณะเดียวกันลิ้น (tongue) ที่รับรสอาหาร ก็จะช่วยคลุกเคล้าอาหารกับน้ำลายที่มีเอนไซม์อะไมเลส (amylase) ที่ช่วยย่อยคาร์โบไฮเดรตหรือแป้งให้มีขนาดเล็กลง

2. คอหอย (Pharynx) เป็นทางผ่านของอาหารจากปากลงสู่หลอดอาหาร คอหอยจะมีท่อที่เชื่อมระหว่างหลอดลมและหลอดอาหาร

3. หลอดอาหาร (Esophagus) โดยกล้ามเนื้อของผนังหลอดอาหารจะบีบตัวเป็นลูกคลื่นระยะ ๆ เรียกว่า เพอริสทัลซีส (peristalsis) เพื่อให้อาหารลงสู่กระเพาะอาหารและไม่ย้อนกลับสู่หลอดอาหารอีก

4. กระเพาะอาหาร (Stomach) มีลักษณะเป็นถุงที่จุประมาณ 2 – 4 ลิตร ผนังของกระเพาะอาหารเป็นกล้ามเนื้อหนาที่แข็งแรงและยืดหยุ่น กระเพาะอาหารจะผลิตกรดไฮโดรคลอริก (กรดเกลือ) ช่วยทำให้อาหารอ่อนตัวและกรดนี้จะเปลี่ยนเอนไซม์ที่ไม่มีฤทธิ์ให้กลายเป็นเอนไซม์เพปซิน (pepsin) ช่วยย่อยโปรตีน

5. ลำไส้เล็ก (Small Intestine) เป็นท่อขดไปมาในช่องท้อง ผนังด้านในมีส่วนยื่นออกมา เรียกว่า วิลลัส (villus) ช่วยเพิ่มพื้นที่ผิวในการดูดซึมอาหาร ภายในลำไส้เล็กมีต่อมสร้างน้ำย่อยที่ย่อยแป้ง น้ำตาล และโปรตีน หน้าที่สำคัญของลำไส้เล็กคือย่อยอาหารและดูดซึมสารอาหาร

6. ตับ (Liver) เป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย อยู่ใต้ชายโครงด้านขวา มีต่อมขนาดใหญ่ทำหน้าที่สร้างน้ำดี (Bile) แล้วเก็บไว้ในถุงน้ำดี และจากถุงน้ำดีจะมีท่อส่งต่อมายังลำไส้เล็ก ทำให้ลำไส้เล็กสามารถย่อยอาหารประเภทไขมันและดูดซึมง่ายขึ้น

7. ตับอ่อน (Pancreas) อยู่ระหว่างกระเพาะอาหารกับลำไส้เล็กตอนบน ทำหน้าที่ช่วยสร้างน้ำย่อยให้ลำไส้เล็ก นอกจากนี้ยังสร้างฮอร์โมนมีผลต่อการลดระดับน้ำตาลในเลือด นั่นคือ ฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin)

8. ลำไส้ใหญ่ (Large Intestine) ไม่มีหน้าที่ย่อยอาหาร แต่มีหน้าที่ดูดซึมสารอาหารที่เหลือจากการดูดซึมของลำไส้เล็กเข้าสู่ร่างกาย จากนั้นจะบีบตัวเพื่อให้กากอาหารที่ไม่มีประโยชน์หรืออุจจาระ ออกนอกร่างกายทางทวารหนัก (Rectum)